เอ๊ะ! ลูกของคุณกำลังนอนกรนอยู่หรือเปล่า? ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ดูธรรมดามากๆ แต่รู้ไหมคะว่าโรคนี้อันตรายมากแค่ไหน ซึ่งมันส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกาย และพัฒนาการของลูกเราเลยทีเดียวค่ะ วันนี้นำความรู้เรื่องการนอนกรนในเด็ก จากรายการ 37 องศา โดยกุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ว่าโรคนี้อันตรายแค่ไหน มีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีการรักษายังไง รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจลูกมากขึ้นอย่างไร เรามาหาคำตอบกันค่ะ
คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตยังไงว่าลูกตัวเองนอนกรนแล้วเป็นอันตราย
-สังเกตลูกตอนหลับในช่วงครึ่งคืนหลังประมาณช่วงเที่ยงคืน ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 02.00-05.00น. ช่วงใกล้รุ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กหลับสนิทที่สุด
-ลูกนอนกรนเสียงดัง เสียงกรนคล้ายผู้ใหญ่นอนกรน
-กรนมากในทุกท่านอน ไม่ว่าจะเป็นท่านอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง
-สังเกตเสียงกรน มีการขาดหายเป็นช่วงๆหรือเปล่า? มีอาการสะดุ้งเฮือกเหมือนขาดอากาศหรือเปล่า?
-มีผุดลุกผุดนั่งไหม? เปลี่ยนท่าการนอนบ่อยไหม? เปลี่ยนท่าแล้วยังกรนอยู่ไหม?
ผลข้างเคียงอื่นๆ เมื่อลูกน้อยนอนกรน
-ในเด็กจะมีการปัสสาวะรดที่นอนซึ่งโดยปกติเด็กก่อน 5 ขวบ จะมีการปัสสาวะรดที่นอนได้ แต่ถ้าเกิน 5 ขวบไปแล้ว มีการปัสสาวะรดที่นอน ถือว่าผิดปกติ
-เด็กมีปัญหาต่อด้านพัฒนาการทางสติปัญญาหรือไม่? เช่น ไม่มีสมาธิ ผลการเรียนแย่ลง
โดยส่วนใหญ่แล้วอาการนอนกรนนี้จะพบในเด็กช่วงเข้าเรียน อายุ 2-6 ขวบ เพราะช่วงนี้ต่อมน้ำเหลืองในร่างกายกำลังโตไม่ว่าจะเป็นต่อมทอนซิลหรือต่อมอดีนอยด์
ผลกระทบจากการนอนกรนที่มีผลต่อพัฒนาการของลูก
ภาวะนอนกรนถ้ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจที่รุนแรงมากจะส่งผลให้ออกซิเจนต่ำเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ เมื่อออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆในร่างกายไม่เพียงพอก็จะมีผลต่อเซลล์สมอง หัวใจ และพัฒนาการของเด็กตามมาค่ะ เช่น
-เด็กซุกซนมากเกินปกติ
-สมาธิสั้น
-เรียนไม่เก่ง
-ความจำไม่ดี
-อาจหัวใจล้มเหลวได้
วิธีการรักษาอาการนอนกรนในเด็ก
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
-ถ้าเป็นภูมิแพ้ จะต้องควบคุมสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้น ต้องรักษาอาการภูมิแพ้ให้ดี อาจจะมีการใช้ยาจากทางการแพทย์ร่วมด้วย
-ถ้าเด็กมีภาวะโรคอ้วน น้ำหนักเกิน ก็จะต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร
-ปรับเปลี่ยนท่านอน นอนในท่านอนตะแคง ไม่นอนหงาย
การรักษาโดยการผ่าตัด
-ผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือต่อมอดีนอยด์
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกคือ การตรวจการนอนกรนขณะหลับ โดยผู้ป่วยจะต้องมานอนโรงพยาบาล 1 คืน จะมีการตรวจระบบการทำงานส่วนต่างๆของร่างกายโดยการวัดผลจากอุปกรณ์ที่ทำการติดตั้งวัดผลของผู้ป่วย เพื่อวัดค่าต่างๆ เช่น คลื่นสมอง คลื่นหัวใจ ระดับออกซิเจนในร่างกาย วัดลมหายใจ เพื่อดูความสัมพันธ์ของการอุดกั้นลมหายใจ
นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจเบื้องต้นได้ที่บ้านโดยใช้อุปกรณ์อีกตัวที่เป็นมอนิเตอร์วัดระดับออกซิเจนขณะนอนหลับ โดยจะแสดงผลออกมาเป็นกราฟ และแพทย์จะวินิจฉัยต่อไปว่าอยู่ในระดับอันตรายหรือเสี่ยงมากแค่ไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรจะตรวจที่โรงพยาบาลอยู่ดีค่ะ เพราะอุปกรณ์ เครื่องมือพร้อม จะทำให้วัดผลได้แม่นยำกว่ามาก ต่อให้ตอนเด็กผ่าตัดไปแล้ว ก็อาจจะกลับมานอนกรนได้อีกในวัยผู้ใหญ่ เพราะการนอนกรนในผู้ใหญ่ เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหย่อนตัว อย่าลืมสังเกตอาการลูกๆ ของท่านกันนะคะ
สรุป ลูกนอนกรน อันตรายหรือไม่?
หากลูกของท่านนอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ถือว่าอันตรายอย่างมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของลูก ทั้งเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สมาธิสั้น การเรียนไม่ดี เป็นต้น ท่านสามารถพาลูกไปทำ Sleep Test เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาให้ตรงจุดดีกว่าค่ะ
ขอขอบคุณที่มา รายการ 37 องศา : https://www.youtube.com/watch?v=FRqL-ilY25g