มีรายงานทางการแพทย์พิสูจน์ว่า การนอนหลับหรือการนอนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ หลายชนิด รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า
การนอนกรน.. เกิดจากทางเดินหายใจตีบแคบ ในขณะที่คนเรานอนหลับสนิท กล้ามเนื้อต่างๆในช่องปากจะผ่อนคลายและหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลม และปอดได้ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้เพียงพอ และเนื่องจากช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลงจึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น การนอนกรนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของการหายใจ คือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะที่นอนหลับ การนอนกรนจึงทำให้ส่งผลต่อคุณภาพการนอน หลับไม่ต่อเนื่องและกลายเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี การเผาผลาญแย่ลง ทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้
นอกจากนี้ อันตรายที่เกิดจากการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังรวมไปถึงการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของหลอดเลือดสมอง และยังอาจทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนอนกรน
-อ้วน น้ำหนักเกิน
-มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก
-สันจมูกเบี้ยวหรือคด
-ต่อมทอนซิลโต
-รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
-ดื่มเหล้า สูบบุหรี่เป็นประจำ
-กินยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ
-เพศชายจะมีโอกาสนอนกรนมากกว่าเพศหญิง 6-10 เท่า
-ผู้หญิงจะมีอาการนอนกรนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน
วิธีสังเกตว่าเรานอนกรนถึงขั้นอันตราย
-กรนเสียงดังมาก จนรบกวนการนอนของคนอื่น
-กรนๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง มีช่วงหยุดหายใจ หรือกรนแล้วสะดุ้งเฮือกแสดงว่าขาดอากาศหายใจ
-ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
-นอน 7-8 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่สดชื่น ปวดหัวหรือมึนหัวในตอนเช้า
-ง่วงนอนตอนกลางวัน
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
ผู้เข้ารับตรวจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน การตรวจจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการตรวจว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ มกน้อยเพียงใด และช่วงที่สองเป็นช่วงของการรักษาอาการ
ช่วงแรก เจ้าหน้าที่จะวัดขนาดของศีรษะผู้เข้ารับตรวจเพื่อติดตั้งอุปกรณ์วัดคลื่นสมอง เครื่องตรวจสอบภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่จมูก ติดไมโครโฟนวัดระดับความดังของเสียงกรน ติดอุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือด ซึ่งจะถูกส่งไปประมวลผลที่ห้องควบคุมและสังเกตอาการตลอดเวลา
หากผู้เข้ารับการรักษามีอาการนอนกรนผิดปกติหรือหยุดหายใจขณะหลับ เจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกซึ่งเป็นหน้ากากครอบกับจมูกมาใส่ให้เพื่อเติมอากาศเข้าไป และเป็นการป้องกันทางเดินหายใจถูกปิดกั้น
ในการใช้เครื่อง CPAP แพทย์จะเป็นคนกำหนดค่าความดันที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล หากแรงดันมากไปจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากขณะนอนหลับ และหากน้อยไปก็อาจจะทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นจนร่างกายขาดออกซิเจน
การตรวจแบบนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงประเภทและความรุนแรงของโรค เพื่อให้การรักษาที่ได้ผลดีกับผู้ป่วยมากที่สุด
การรักษาอาการนอนกรน
-ลดน้ำหนัก
-ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกในทางเดินหายใจ (CPAP) เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น
-ใส่อุปกรณ์ดึงลิ้นหรือกรามให้เลื่อนไปด้านหน้า
-จี้หรือผ่าตัดเพดานอ่อนและลิ้นไก่ด้วยเลเซอร์
-ผ่าตัดเพดานในช่องปากหรือตัดกล้ามเนื้อบริเวณโคนลิ้น
-ผ่าตัดเลื่อนกรามเพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
สรุปว่า การนอนกรน อันตรายจริงหรือไม่?
การนอนกรน.. เกิดจากทางเดินหายใจตีบแคบ ในขณะที่คนเรานอนหลับสนิท และส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคต่างๆได้ ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด และอาจจะทำให้เสียชีวิต! แต่เราก็มีวิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ ถ้ามีการกรนดังมาก กรนๆหยุดๆ นอนเยอะแล้วแต่ไม่รู้สึกสดชื่นเลย มีอาการง่วงในตอนกลางวันร่วมด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็มีวิธีการรักษาอาการนอนกรน อย่าละเลยเรื่องเล็กๆแล้วปล่อยให้ตัวเองเป็นหนักกันนะคะ หากมีอาการก็ควรที่จะรีบไปปรึกษาแพทย์กันค่ะ
ขอขอบคุณที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=BtxIzr4gIbI https://www.youtube.com/watch?v=cjhp1neV-_M