วันนี้เรานำความรู้จากรายการ Health Check มาฝากเกี่ยวกับเรื่องการรักษาเมื่อมีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ โดยแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก ศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้ากันค่ะ
เคยสังเกตตัวเองกันหรือเปล่าคะในช่วงที่เราหลับ ลมหายใจผ่านเข้าออกทางจมูก หายไปไหม? หากลมหายใจหายไป จะอันตรายไหม? แล้วยิ่งถ้าเกิดมีระดับออกซิเจนในกระแสเลือดต่ำลงข้อนี้ก็จะบ่งบอกได้ว่าคุณมีการหยุดหายใจเกิดขึ้นขณะนอนหลับ แล้วจะมีวิธีการรักษายังไง เราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
การรักษาเมื่อมีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ
มาเช็คดูกันก่อนนะคะว่าปัญหาเกิดจากอะไร? ภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด มีก้อนในจมูก ทอนซิลโต โคนลิ้นโตหรือลิ้นไก่หย่อน หากเกิดจากปัญหาข้างต้น จะนิยมใช้วิธีการผ่าตัด หรือแก้ปัญหาจากสาเหตุเช่น ถ้าเป็นจากภูมิแพ้ก็ต้องรักษาภูมิแพ้ เป็นจากจมูกคด ก็ต้องแก้ไขจมูกคด เป็นจากโคนลิ้นใหญ่ลิ้นไก่หย่อน ก็จะทำการรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไข
แต่โดยทั่วไปการรักษาอาการนอนกรนยัง”ไม่ใช่”การผ่าตัดเป็นหลัก การรักษาโดยไม่ผ่าตัดจะเป็นการใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือเครื่อง CPAP จะทำให้เกิดแรงดันอากาศเข้าไปทางเดินหายใจ ทางเดินหายใจก็จะเปิดกว้างขึ้น คนไข้นอนแล้วก็จะหายใจได้สะดวก ไม่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ร่างกายได้รับออกซิเจนเต็มที่ ส่วนข้อเสียของเครื่องนี้ก็มีเหมือนกันค่ะ คือใส่แล้วอึดอัด แต่วิธีนี้เป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนอนกรน
มีการศึกษาพบว่าในคนที่นอนกรนแล้วมีทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ในหลายๆคนหมอพบว่าเป็นมากกว่า 1โรคขึ้นไป เป็นหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน
อีกหนึ่งเทคนิคง่ายๆ ช่วยลดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับนะคะ (โดยเฉพาะห้องนอนที่ติดแอร์) คือเพิ่มความชื้นในห้องโดยการหาอ่างน้ำมาวางไว้ในห้องนอนเพื่อรักษาสมดุลอากาศไม่ให้รบกวนทางเดินหายใจและรบกวนการนอน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้นค่ะ
สรุปการรักษาเมื่อมีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับจากรายการ Health Check
การนอนกรนแล้วมีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ถือเป็นโรคและเป็นภัยเงียบที่ทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงหากปล่อยทิ้งไว้ การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือเครื่อง CPAP หากมีมาจากสาเหตุอื่นก็จะใช้วิธีการผ่าตัด จะรู้ได้อย่างไรคะว่าเรานอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ลองดูนะคะว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ นอนกรน? สะดุ้งเฮือกตอนนอน? หลังตื่นนอน? ง่วงมากผิดปกติตอนกลางวัน? ไม่สดใส? อ่อนเพลีย? ปวดหัวตอนตื่น? หากมีอาการเหล่านี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกันนะคะ คุณหรือคนที่คุณรักอาจจะเป็นโรคนี้อยู่ก็ได้ หากใครอยากทราบว่าเราเป็นหรือไม่นั้น ควรที่จะไปตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อรับรับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้กันค่ะ
ขอขอบคุณที่มา รายการ Health Check : https://www.youtube.com/watch?v=6Xt0LYrC0Co