เคยไหม? อ่อนเพลีย ทั้งๆที่นอนหลายชั่วโมง ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน มีอาการง่วงระหว่างวัน อาการเหล่านี้อาจจะเกิดจากการนอนกรนก็ได้ เอ๊ะ! แล้วโรคนอนกรนคืออะไร?
มาดูสาเหตุของการนอนกรนกันค่ะ
อาการนอนกรนเกิดได้หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันของทางเดินหายใจ ทางเดินหายใจบริเวณช่วงคอตีบลง จมูกตัน เพดานอ่อนตัน หรือโคนลิ้นใหญ่
แล้วการนอนกรนอันตรายไหม?
การนอนกรนอนมีทั้งแบบไม่อันตรายและอันตรายนะคะ
–แบบอันตราย คือการนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย ทำให้ระดับออกซิเจนต่ำลง มีผลกระทบไปถึงหัวใจ สมอง ความดัน และอาจทำให้เสียชีวิตได้
–แบบไม่อันตราย เป็นแค่การนอนกรนแบบที่มีเสียงกรนออกมา เสียงกรนจะเป็นเสียงต่อเนื่อง ทำให้รบกวนคนข้างๆ คนในครอบครัว สมรรถภาพทางเพศลดลง รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงตลอดเวลา
วิธีการเช็คว่าเราเป็นระดับไหน?
–ทำ Sleep test โดยการที่คนไข้ไปนอนที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทาง จะมีการติดเครื่องมือ การวัดค่าต่างๆ เช่น คลื่นสมอง คลื่นหัวใจ การเคลื่อนไหวของการหายใจ การอุดตันของทางเดินหายใจ หลังจากได้ค่าต่างๆมาแล้ว ก็จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นการนอนกรนแบบไหน ควรรักษาวิธีไหน หรือใช้เครื่องมือรักษาชนิดไหน ซึ่งเครื่องมือมีหลายชนิดมาก ต้องเลือกให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
สำหรับวิธีการรักษา มีทั้งวิธี ผ่าตัด และ ไม่ผ่าตัดค่ะ
จะต้องวินิจฉัยก่อน โดยจะดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ที่จมูก เพดานอ่อน หรือ โคนลิ้น หลังจากนั้นก็ตรวจสอบอาการนอนกรนเป็นแบบอันตรายหรือไม่เป็นอันตรายซึ่งจะตรวจได้จากการทำ Sleep test
–การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
1.ใช้เครื่องเป่าลมหรือเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า CPAP (พกพายากกว่าเครื่องมือทันตกรรม)
2.เครื่องมือทันตกรรม(พกง่าย ชิ้นเล็ก) เครื่องมือนี้เหมือนเครื่องมือจัดฟันเล็กๆ สามารถถอดได้ ใส่สบาย ใส่เพื่อป้องกันคางกับลิ้นตกลงไปข้างหลังตอนนอน ทางเดินหายใจก็จะกว้างขึ้น หายใจสะดวกขึ้น เสียงกรนลดลง ซึ่งเครื่องมือจะมี 70กว่าชนิด ดูตามความเหมาะสมของแต่ละคนว่าเหมาะกับชนิดไหน ถ้าใช้อุปกรณ์นี้ก็ต้องใช้ตลอด หากวันไหนไม่ใช้ก็จะกลับมากรนอีก
–การรักษาแบบผ่าตัด ต้องดูสาเหตุก่อนว่าเกิดที่อะไร ถ้าเป็นโครงสร้างเกิดจากคางสั้น อาจจะมีการปรับโครงสร้าง วิธีนี้มีโอกาสที่จะหายจากการนอนกรน
วิธีการสังเกตตัวเองว่ามีอาการนอนกรนหรือไม่?
-ที่พบบ่อย คือคนที่นอนเยอะๆ 8-9 ชั่วโมง แต่ยังรู้สึกเพลียอยู่
-ปวดหัวตอนเช้าที่ตื่น
-ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น
-ตื่นกลางดึก สะดุ้งตื่น มีอาการสำลักระหว่างหลับ
-คนที่กรน แล้วเงียบไป แล้วกลับมากรนอีก มีแนวโน้มว่าจะเป็นอาหารกรนแบบอันตรายคือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย
คนวัยไหนบ้าง? ที่มีโอกาสนอนกรน
มีโอกาสนอนกรนได้ทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายอายุมากหน่อย ถ้าในผู้หญิงก็จะเป็นผู้หญิงหมดประจำเดือนแล้ว เปอร์เซ็นต์ฮอร์โมนจะกลับมาใกล้เคียงผู้ชาย (เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป) คนที่มีน้ำหนักเยอะๆ ไขมันที่เยอะขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจตีบลง การนอนกรนก็จะหนักขึ้น การหยุดหายใจก็จะแย่ลง ในเด็กก็สามารถเป็นได้ ซึ่งการนอนกรนในเด็ก ถ้าเป็นเด็กที่มีการเจริญเติบโตอยู่ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น เรื่องพัฒนาการ การเจริญเติบโต การศึกษา อาจจะความจำไม่ดี มีอาการซึมเศร้า ไม่เข้าสังคม ไฮเปอร์ หรือซนมากกว่าปกติ
การนอนกรนมีอีกหนึ่งอาการตามมาคือ การนอนกัดฟันค่ะ
งานวิจัยใหม่ๆ บอกว่าเป็นอาการต่อเนื่องกันจากการนอนกรน คนไข้นอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย จะมีเปอร์เซ็นต์การนอนกัดฟันสูงกว่าคนปกติ การนอนกัดฟันทำให้ฟันเสียหายด้วยในระยะยาว คนนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย อายุจะสั้นลงไป 10-20 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้าเรารักษาทันอายุก็ยืดไปเหมือนคนปกติทั่วไป
ผลกระทบของอาการนอนกรน
นอกจากจะส่งผลเสียต่อตนเองแล้ว ยังส่งผลเสียต่อคนข้างๆ ที่นอนด้วย หรือคนในครอบครัวนอนไม่พอ ซึ่งทำให้ส่งผลต่ออารมณ์ และคุณภาพชีวิตได้ค่ะ
วิธีดูแลตัวเองง่ายๆ เบื้องต้นเลยนะคะ
–นอนตะแคงแทนการนอนหงายเพราะคางกับลิ้นจะไม่ตกลงไปข้างหลัง ทำให้การนอนกรนน้อยกว่านอนหงาย
–ลดน้ำหนัก เมื่อไขมันลดลง ก็ทำให้ทางเดินหายใจตีบน้อยลง
–ดูแลตัวเอง คอยสังเกตตัวเองว่ามีอาการไหนบ้าง ถ้ามีอาการเข้าข่ายอันตรายก็จะได้รักษาได้ทัน
สรุปแล้วการนอนกรนซึ่งเราคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องธรรมดา แต่จริงๆ มันเป็นภัยใกล้ตัวเราเลยทีเดียวค่ะ ทั้งรบกวนคนรอบข้าง ทั้งอันตรายที่จะเป็นโรคอื่นๆ ผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งอาการเหล่านี้เราสามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ ถ้ามีอาการเข้าข่ายกับโรคนอนกรนนี้ ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาทางรักษาก่อนที่จะมีผลกระทบอื่น และโรคอื่นๆตามมา
ขอบคุณที่มา จากรายการ คลินิกชีวรักษ์ รักชีวิตคุณ เท่าชีวิตเรา https://www.youtube.com/watch?v=JNiIWs_YJgU