องค์การอนามัยโลกบอกว่าคนที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้ตายได้ โดยเฉพาะคนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป หรือเรียกว่า “น้ำหนักตัวเกิน” แต่ถ้ามีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เรียกว่า “เป็นโรคอ้วน”
เนื้อหา
1 ภาวะ “น้ำหนักตัวเกิน” และ “โรคอ้วน” เสี่ยงซึมเศร้า และตายเร็ว
2 นอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea) เกิดจากอะไร?
3 ทำไมขาดออกซิเจนแล้ว ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า?
4 วิธีการรักษา
5 สรุปคนอ้วน เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนปกติจริงหรือไม่?
ภาวะ “น้ำหนักตัวเกิน” และ “โรคอ้วน” เสี่ยงซึมเศร้า และตายเร็ว
นพ.จีรวัส ศิลาสุวรรณ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร รพ.พญาไท ระบุว่าคนที่อ้วนจะเสี่ยงต่อการเป็น
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต)
2. โรคเบาหวาน
3. โรคความดันโลหิตสูง
4. โรคไขมันในเลือดสูง
5. โรคนิ่วในถุงน้ำดี
6. โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea)
รู้ไหมคะว่า โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ นี่แหละ คือต้นเหตุที่อันตรายที่สุด เพราะถ้าเป็นโรคนี้แล้ว มันจะเสี่ยงให้เกิดโรคร้าย อย่าง ภาวะหัวใจล้มเหลว เส้นเลือดในสมองแตก ตีบ ตัน และโรคซึมเศร้าตามมา
นอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea) เกิดจากอะไร?
ภาวะหยุดหายใจตอนนอนเกิดจากการที่เนื้อเยื่อในคอ อย่างลิ้นไก่ เพนดานอ่อน ลิ้น หย่อนหรือมีขนาดใหญ่จนไปทำให้ทางเดินหายใจเราตีบแคบลงเวลานอน บางคนก็ต่อมทอนซิลโต ก็เลยทำให้เกิดการกรนขึ้น และถ้าช่องที่ตีบมาก ๆ ดันมาปิดสนิท เราก็จะหายใจไม่ออก จนร่างกายขาดออกซิเจน แล้วหยุดหายใจไปชั่วคราวในที่สุด
ทำไมขาดออกซิเจนแล้ว ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า?
เมื่อปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง ทางเดินหายใจก็ถูกอุดกั้น นี่แหละคือสาเหตุที่ร่างกายต้องใช้พลังในการหายใจค่อนข้างมาก พอเราหายใจไม่ออกสมองจะสั่งให้ร่างกายตื่นอัตโนมัติ เพื่อมาหายใจ บางคนอาจจะสะดุ้งหรือเกิดการสำลัก สุดท้ายสมองก็เครียด ร่างกายก็เครียด พอสะสมไปนาน ๆ ความเครียดของร่างกาย ที่เกิดกับเราแบบไม่รู้ตัวนี้ จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกแย่ จนเป็นโรคซึมเศร้า
วิธีการรักษา
การรักษามีหลายวิธีค่ะ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ ถ้าเราไปหาหมอแล้ว แล้วหมอเจอว่าต่อมทอนซิลโต เราอาจจะได้รับการผ่าตัด แต่ถ้าเจอว่าเราอ้วน หมอก็จะให้เราปรับพฤติกรรม แต่ถ้าเราหยุดหายใจเพราะความผิดปกติของสมอง อันนี้จะใช้เครื่อง CPAP หรือเครื่อง BiPAP มาช่วยในการรักษาการนอนกรนแล้วหยุดหายใจ ทำให้เราหายใจตอนนอนได้ตามปกติ แล้วสมองเราจะโล่ง จนอาการปวดหัวในตอนเช้า ค่อย ๆ หายไป
สรุปคนอ้วน เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนปกติจริงหรือไม่?
เพราะว่า คนอ้วนเสี่ยงต่อการเป็นภาวะหยุดหายใจตอนหลับ จนออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง เซลล์ในร่างกาย ในสมองก็เกิดความเครียด พอสะสมไปนาน ๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกแย่ ซึมเศร้าแบบไม่มีสาเหตุ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ทางที่ดีเราควรไปหาหมอ ออกกำลังกาย แล้วลองสังเกตอาการที่ตัวเองเป็น เช่น วันนี้รู้สึกอยู่ดี ๆ ก็เศร้า เราก็ลองคิดดูว่า เมื่อคืนนอนกี่ชม. ตื่นบ่อยไหม วันนี้รู้เพลีย ๆ รึเปล่า ถ้าเราปล่อยให้นอนกรนแล้วหยุดหายใจไปนาน ๆ เราจะมีโอกาสเป็นโรคร้ายอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมายเลยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และ องค์การอนามัยโลก